เสียสละด้วยใจ เพื่อรับใช้สังคม
Main Menu
กำลังพลในร่วมสิงห์
Picture
Links เพื่อนบ้านเรา
Links หนังสือพิมพ์
สถิติผู้เข้าชมเว็บไซต์


        การช่วยเหลือผู้อื่นเป็นการกระทำที่น่ายกย่อง แต่การช่วยเหลือในภาวะฉุกเฉิน หลายครั้ง ผู้ช่วยเหลือจำเป็น ต้องมีความรู้และประสบการณ์ ในประเทศไทย ซึ่งมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุมากกว่า 10,000 คนต่อปี น่าเสียดายว่าในจำนวนนี้ มีบ่อยครั้งทีผู้บาดเจ็บต้องเสียชีวิต หรือพิการโดยไม่จำเป็นเพียงเพราะเคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บไม่ถูกวิธี....

        ระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน(Emergency Medical Services - EMS) ซึ่งเป็นระบบให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ป่วย และผู้บาดเจ็บ ณ จุดเกิดเหตุก่อนนำส่งโรงพยาบาล(Pre-hospital Care) ได้รับการพิสูจน์ว่าสามารถลดอัตราการเสียชีวิตและพิการได้จริง ซึ่งในเวลานี้ นอกเหนือจากประเทศในยุโรปและอเมริกาซึ่งเป็นผู้นำด้านนี้ ประเทศในเอเชียหลายประเทศก็ได้นำระบบนี้ไปใช้ และประสบความสำเร็จมาแล้ว เช่น จีน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ในประเทศไทย แม้จะมีความพยายามในเรื่องดังกล่าวมา 10-20 ปี แต่ก็กล่าวได้ว่ายังไม่สามารถกำหนดเป็นมาตรฐานการบริการเดียวกันทั่วประเทศได้ เนื่องจากยังไม่มีกฎหมายรองรับ หลักสูตรอบรมผู้ช่วยเหลือ และความตื่นตัวของประชาชนยังมีไม่พอ การช่วยเหลือในความคิดของคนทั่วไปจึงคงมุ่งไปที่การเคลื่อนย้ายคนป่วยส่งโรงพยาบาลเพียงอย่างเดียว ซึ่งเรียกได้ว่าถ้าไม่ถึงห้องฉุกเฉินก็จะไม่มีการรักษาพยาบาลใดๆ ซึ่งอาจจะทำให้คนป่วยมีอาการแย่ลง หรือผู้บาดเจ็บบาดเจ็บเพิ่มมากขึ้นจากการเคลื่อนย้ายที่ผิดวิธี

        ในที่สุด จึงได้มีความพยายามของหน่วยงานบางกลุ่มที่จัดตั้งระบบการช่วยเหลือผู้ป่วยหรือผู้บาดเจ็บของตนเองขึ้น โดยกำหนดมาตรฐานของตนในด้านต่างๆขึ้นมาเอง เช่น หน่วยกู้ชีพนเรนทร โดยกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข, หน่วยแพทย์กู้ชีวิต วชิรพยาบาล โดยหน่วยงานท้องถิ่นคือกรุงเทพมหานคร, ศูนย์ส่งกลับ ของกรมตำรวจ รวมทั้งรถพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชนและในโรงพยาบาลจังหวัดอีกบางแห่ง

ที่มาของระบบ EMS

        การบริการฉุกเฉินทางการแพทย์เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา ค.ศ.1909 Julian Wise ผู้ซึ่งอายุ 9 ขวบ ได้พบเห็นผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางน้ำโดยบังเอิญโดยไม่มีใครช่วยเหลือ ตั้งแต่วันนั้น เด็กน้อยผู้นี้ได้กลับไปครุ่นคิดว่าน่าจะมีวิธีที่ช่วยเหลือคนในภาวะฉุกเฉินแบบนี้ได้ ค.ศ.1928 ความฝันของ Wise ก็เป็นจริงจากการรวบรวมอาสาสมัครมาเป็น "Roanoke Life Saving and First Aid Crew" ซึ่งได้สร้างผลงานการช่วยชีวิตจนหน่วยงานราชการท้องถิ่นให้ความสนใจ และให้การสนับสนุน ถือเป็นจุดเริ่มต้นของแนวคิดการกู้ภัยและ EMS สมัยใหม่ ในปี ค.ศ.1966 เอกสารวิจัยชิ้นหนึ่ง ชื่อว่า Accidental Death and Disability: The Neglected Disease of Modern Society ได้เน้นย้ำให้เห็นความสำคัญโดยมีหลักฐานยืนยันว่าระบบ EMS สามารถเพิ่มโอกาสในการรอดชีวิตในผู้ป่วยและบาดเจ็บฉุกเฉินก่อนที่จะมารับการรักษาในโรงพยาบาลได้

        นับแต่นั้นมาระบบ EMS ในสหรัฐอเมริกาก็ได้รับการพัฒนา มีการออกกฎหมายควบคุมดูแลมาตรฐานของรถพยาบาล วิธีการปฏิบัติงานที่เป็นขั้นตอน(Protocal) และหลักสูตรบุคลากรหลายระดับ เช่น เจ้าหน้าที่กู้ชีพที่เรียกกันว่า Emergency Medical Technician (EMT) และ นักกู้ชีพ(Paramedic) เพื่อใช้เป็นมาตรฐานหน่วย EMS ทั่วประเทศ จนหลายประเทศได้นำแนวคิดดังกล่าวไปดัดแปลงใช้ โดยเฉพาะในทวีปอเมริกาและยุโรป

หน่วยกู้ภัยกับบทบาทการช่วยชีวิต

        สำหรับในประเทศไทย ดูเหมือนว่าบทบาทการช่วยชีวิตจะตกอยู่กับหน่วยกู้ภัยเป็นส่วนใหญ่ หน่วยกู้ภัยมูลนิธิร่วมกตัญญูซึ่งเดิมได้บริการขนส่งศพไม่มีญาติ ต่อมาได้เริ่มบทบาทการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บจากการจราจรนำส่งโรงพยาบาลโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ซึ่งต่อมาได้เกิดหน่วยกู้ภัยซึ่งมีการจัดการเป็นมูลนิธิในลักษณะนี้เกิดขึ้นมาหลายหน่วยทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ส่วนใหญ่เป็นการช่วยเหลือนำผู้บาดเจ็บส่งโรงพยาบาลโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย และทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ สามารถไปถึงที่เกิดเหตุเร็วมากเนื่องจากรับฟังวิทยุรายงานเหตุจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ

        แต่แม้มูลนิธิกู้ภัยจะเริ่มบทบาทการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บมานานแล้ว มีหน่วยสนับสนุนเครื่องมือตัดถ่าง เครื่องตัดเหล็กกรณีช่วยเหลือผู้บาดเจ็บติดอยู่ภายในซากรถ มีชุดประดาน้ำสำหรับการกู้ภัยทางน้ำ แต่ก็ได้มีการพัฒนาด้านการดูแลผู้ป่วยและผู้บาดเจ็บค่อนข้างน้อย บุคลากรขาดความรู้เกี่ยวกับการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บที่ดีพอ แม้จะมีประสบการณ์ในการช่วยเหลือมามากก็ตาม นอกจากนั้น ในรถกู้ภัยที่เป็นรถกระบะดัดแปลงเหล่านั้น ส่วนใหญ่ไม่มีอุปกรณ์ในการช่วยชีวิต บางคันอาจไม่มีแม้แต่เปล แต่บางคัน โดยเฉพาะในต่างจังหวัด จะมีอุปกรณ์ช่วยชีวิตบางอย่าง เช่น เครื่องช่วยหายใจ(Ambu Bag) มีชุดให้ออกซิเจน(Oxygen) และอุปกรณ์ดามกระดูก(Splint) เป็นต้น

ความพยายามของกรมตำรวจ

        นอกเหนือจากหน่วยกู้ภัยแล้ว ได้มีหน่วยงานหลายหน่วยได้เคยพยายามที่จะริเริ่มการให้บริการ EMS ขึ้นในประเทศไทย แต่ส่วนใหญ่มักพบปัญหาจากระเบียบของราชการเอง ทำให้การช่วยเหลือมักล่าช้า ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ เช่น วันหนึ่งมี 24 ชั่วโมงแต่อาจมีคนขับรถพยาบาลเพียงแค่ในเวลาราชการ หรือมีแพทย์ประจำเพียงบางเวลา นอกจากนั้นยังอาจไม่ได้รับงบประมาณสนับสนุนค่าน้ำมันและอุปกรณ์อย่างเพียงพอ

        ราวปีพ.ศ.2520 กรมตำรวจได้เคยตั้งศูนย์รถพยาบาลขึ้นเพื่อช่วยเหลือผู้บาดเจ็บที่ร้องขอมาทางโทรศัพท์และวิทยุ และได้รวมศูนย์รถพยาบาลเข้ากับศูนย์ส่งกลับซึ่งตั้งมาก่อนหน้า จุดประสงค์เดิมของศูนย์ส่งกลับคือการลำเลียงผู้บาดเจ็บจากสงคราม ในปัจจุบัน ศูนย์ส่งกลับของกรมตำรวจได้มีรถพยาบาลอยู่ในสถานีดับเพลิงในกทม.ประมาณ 34 แห่ง และในโรงพยาบาลตำรวจ

        รถพยาบาลในสถานีดับเพลิง ซึ่งมีอุปกรณ์ปฐมพยาบาลเบื้องต้นจะใช้ตำรวจดับเพลิงที่ผ่านการอบรมออกปฏิบัติหน้าที่ มีความสามารถระดับเคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บ นำส่งโรงพยาบาล แต่ไม่มีการรักษาพยาบาล ณ จุดเกิดเหตุและระหว่างทาง
รถพยาบาลในโรงพยาบาลตำรวจ ซึ่งมีเครื่องมือครบ จะมีแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ช่วยเหลือแพทย์ พลขับ และเจ้าหน้าที่วิทยุออกปฏิบัติการ
แต่เป็นที่น่าเสียดายว่ารถพยาบาลของศูนย์ส่งกลับมักจะออกปฏิบัติหน้าที่เฉพาะอุบัติภัยใหญ่ๆ หรืออุบัติเหตุที่มีผู้บาดเจ็บจำนวนมากเท่านั้น โดยที่สามารถออกปฏิบัติหน้าที่(Response Time) ใช้เวลาถึง 3 นาที นอกจากนั้นยังมีปัญหาเกี่ยวกับบุคลากร จึงทำให้ยังไม่สามารถเรียกได้ว่าเป็นหน่วยให้บริการการแพทย์ฉุกเฉินที่แท้จริง

ความพยายามนำไปสู่ความสำเร็จ

        ราวปีพ.ศ.2537 หลังจากได้มีการศึกษา และความพยายามของกลุ่มแพทย์และพยาบาลบางกลุ่ม หน่วย EMS ที่มีแนวคิดพื้นฐานอยู่ที่การให้การบริการการแพทย์ฉุกเฉิน ณ จุดเกิดเหตุสำหรับผู้ป่วย และผู้บาดเจ็บทุกประเภทโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายก็เริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นในกรุงเทพฯ และในจังหวัดขอนแก่น ในกรุงเทพฯได้แก่ หน่วยกู้ชีพนเรนทรโดยกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และ หน่วยแพทย์กู้ชีวิต โดยกรุงเทพมหานคร

        หน่วยกู้ชีพนเรนทร โดยกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ให้บริการการแพทย์ฉุกเฉินทุกประเภทตลอด 24 ชั่วโมง มีฐานรถพยาบาลในโรงพยาบาล(Hospital Based EMS) ในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข 3 แห่งคือ โรงพยาบาลราชวิถี(ฐานหลัก) โรงพยาบาลเลิดสิน และโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี แต่ละแห่งจะมี แพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่กู้ชีพ ประจำพร้อมที่จะออกปฏิบัติงานภายใน 1 นาทีหลังได้รับแจ้ง เป็นการบริการที่ไม่คิดค่าใช้จ่าย

        แพทย์และพยาบาลผ่านการอบรม Advanced Life Support(ALS) สามารถทำการช่วยเหลือขั้นสูงได้ มีความสามารถระดับ นักกู้ชีพ(Paramedic) ในสหรัฐอเมริกา ส่วน เจ้าหน้าที่กู้ชีพ ซึ่งเป็นบุคลากรจากหลายแห่ง โดยเฉพาะจากมูลนิธิปอเต็กตึ้งและร่วมกตัญญู ผ่านการอบรม Basic Life Support จำนวน 110 ชั่วโมง มีความสามารถในการช่วยเหลือเทียบเท่า Emergency Medical Technician Basic (EMT-B) ในสหรัฐอเมริกา เช่น การประเมินอาการบาดเจ็บ ดามกระดูกที่หัก การห้ามเลือด การผายปอด การยกและเคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บด้วยวิธีต่างๆอย่างถูกต้อง เป็นต้น การสื่อสารใช้เครือข่ายของกระทรวงสาธารณสุขเป็นการชั่วคราวที่คลื่นความถี่ 154.925 MHz และมีโทรศัพท์ หมายเลข 1669 (เฉพาะในกทม.) คอยรับแจ้งเหตุในโรงพยาบาลราชวิถี

        งบประมาณในปัจจุบันได้รับการสนับสนุนจากหลายแห่ง เช่น กระทรวงสาธารณสุข งบประมาณของโรงพยาบาล มูลนิธิปอเต็กตึ้งและร่วมกตัญญู และสถาบันการแพทย์ด้านอุบัติเหตุและสาธารณภัย และเนื่องจากเจ้าหน้าที่กู้ชีพมาจากมูลนิธิปอเต็กตึ้งและร่วมกตัญญูซึ่งมีประสบการณ์การทำงานกู้ภัยอยู่ก่อนแล้ว ทำให้สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

        เมื่อการจราจรติดขัด หน่วยกู้ชีพนเรนทรจะประสานงานกับตำรวจจราจรโครงการพระราชดำริเสมอ เพื่อช่วยให้ไปถึงที่หมายได้เร็วขึ้น

        หน่วยแพทย์กู้ชีวิต เป็นหน่วยงานให้บริการการแพทย์ฉุกเฉินของกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นไปตาม แผนป้องกันอุบัติภัย ของกรุงเทพมหานคร มีฐานรถพยาบาลอยู่ในโรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานครครบทั้ง 7 แห่ง แต่สามารถออกปฏิบัติงานได้จริงเพียง 4 แห่ง โดยฐานหลักอยู่ที่โรงพยาบาลวชิระ มีเรือพยาบาล 7-8 ลำเพื่อช่วยเหลือในกรณีเกิดอุบัติภัยทางน้ำและเมื่อเกิดอุบัติภัยที่มีความรุนแรง จะประสานงานกับกรุงเทพมหานครได้ดี โดยมีรถถ่ายทอดสัญญาณภาพและเสียงมายังศาลาว่าการ กรุงเทพมหานครด้วย หน่วยแพทย์กู้ชีวิตให้บริการตลอด 24 ชั่วโมงโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย แต่จะเน้นการให้บริการเฉพาะผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุ (Trauma) เท่านั้น

        บุคลากรที่ปฏิบัติหน้าที่มาจากบุคลากรในโรงพยาบาล มี แพทย์ ผู้ช่วยแพทย์ first-aider พนักงานวิทยุ และพนักงานขับรถ ส่วนใหญ่แพทย์มักจะประจำอยู่ที่ฐาน โดยให้ผู้ช่วยแพทย์ซึ่งได้รับการอบรมประมาณ 20 ชั่วโมงออกปฏิบัติงาน การสื่อสารใช้เครือข่ายสื่อสารของตนเอง รับแจ้งเหตุทางเครือข่ายการสื่อสารที่คลื่นความถี่ 171.425 MHz และโทรศัพท์ที่หมายเลข 1554 (เฉพาะในกทม.) ในโรงพยาบาลวชิระ หน่วยแพทย์กู้ชีวิตมีอาสาสมัครของตนเอง ส่วนใหญ่เป็นประชาชนทั่วไปที่มีรถยนต์ และมีงานประจำอยู่ก่อนแล้ว จำนวน ทั้งสิ้นหลายพันคนครอบคลุมพื้นที่ในกรุงเทพฯเพื่อคอยแจ้งเหตุ ตรวจสอบเหตุ และนำส่งผู้บาดเจ็บในกรณีผู้บาดเจ็บมีอาการบาดเจ็บเพียงเล็กน้อย


Free Web Hosting